สาระน่ารู้โลจิสติกส์
1. กระบวนการจัดการจัดซื้อจัดหา (Purchasing Management)
     การจัดซื้อหรือจัดหา มีชื่อเรียกได้หลายแบบ เช่น หากเป็น Procurement จะเน้นกิจกรรมต่างๆทั้งจัดซื้อ , กิจกรรมของคลังสินค้า , การขนส่ง และการจัดส่ง ซึ่งเป็นรูปแบบของการจัดการก่อนที่จะมีกระแส Logistics เข้ามาใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน สำหรับหน่วยงานของรัฐหรือบางองค์กร อาจเรียกว่า การพัสดุ (Supply Department) หรือ กองคลัง , กองจัดหา เป็นต้น สำหรับการจัดซื้อตามความมุ่งหมายใน “หนังสือ What is Logistics” จะหมายถึง การจัดซื้อในรูปแบบที่เป็น “Purchasing” คือ กระบวนการในการดำเนินการให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบ , สิ่งของที่จำเป็น ตามความต้องการของหน่วยงานที่มีการร้องขอ โดยการจัดซื้อหรือสิ่งที่ซื้อมามีส่วนปฏิสัมพันธ์กระทบต่อผลกำไรหรือผลการประกอบการของธุรกิจ โดยวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของการจัดซื้อ มีดังนี้
     1)  จัดหาวัตถุดิบ, อุปกรณ์และสิ่งของ เพื่อป้อนให้นำส่งหน่วยงานที่ต้องการ
     2)  การจัดซื้อจัดหาในราคาที่คุณภาพและราคามีดุลยภาพมากที่สุด
     3)  ดำเนินการจัดหาจากแหล่งที่เหมาะสม มีการจัดส่งตรงตามเวลาในปริมาณที่เหมาะสม
     4)  เป็นแหล่งในการหาข้อมูลข่าวสารให้กับองค์กร
     ปัจจุบันองค์กรธุรกิจมีการจัดการการผลิตที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาเป็นการผลิตตามความต้องการของลูกค้า (Make – to – Order) ทำให้ระบบการผลิตต่างๆมีแนวทางการจัดการผลิตเพื่อการขายไม่ใช่ผลิตเพื่อเก็บ Stock คือเป็นการผลิตแบบพอดี (Just for sale manufacturing) โดยสภาวะโลกธุรกิจในปัจจุบันเป็นเรื่องของ Speed เพื่อปรับไปสู่ระบบการผลิตแบบพอดี (Just In Sale) และส่งผลให้การจัดซื้อต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับ JIT ไปเป็นการจัดซื้อในลักษณะทันเวลาพอดี (Just In Time Purchasing)
(ที่มา: http://blog.eduzones.com/friendly/40435)

2. การจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain Management: SCM)
     การจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) นั้นเป็นการนำกลยุทธ์ วิธีการ แนวปฏิบัติ หรือทฤษฎี มาประยุกต์ใช้ในการจัดการ การส่งต่อ วัตถุดิบ สินค้า หรือบริการจากหน่วยหนึ่งในโซ่อุปทาน (Supply Chain) ไปยังอีกหน่วยหนึ่งอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีต้นทุนรวมในโซ่อุปทาน (Supply Chain) ต่ำที่สุด และได้รับวัตถุดิบ สินค้า หรือการบริการตามเวลาที่ต้องการ พร้อมกันนี้ ยังมีการสร้างความร่วมมือกันในการแบ่งปันข้อมูล ข่าวสาร ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม เพื่อให้ทราบถึงความต้องการอันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการส่งต่อของวัตถุดิบ สินค้า หรือการบริการนี้ นำไปสู่การได้รับผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายด้วย (ธนิตย์ โสรัตน์. 2550)
     ซึ่งสามารถสรุปความหมายของโซ่อุปทาน (Supply Chain) ได้ดังนี้ “การจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain Management)” หมายถึง การบริหารจัดการกิจกรรมและความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องกันตั้งแต่ต้นน้ำ (วัตถุดิบ) จนถึงปลายน้ำ (สินค้าสำเร็จรูปหรือบริการ) ซึ่งมีลักษณะยาวต่อเนื่องกันเหมือนโซ่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพตลอดกระบวนการผลิตจนถึงมือผู้บริโภค โดยการให้ความสำคัญต่อการสื่อสาร การวิเคราะห์ข้อมูล และนำไปใช้ร่วมกัน เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในการดำเนินงานและเป็นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน”
อ้างอิง: http://techno.kpru.ac.th/logistics/index.php/e-learning/13-e-learning/13-1?showall=&start=2

3. ความสำคัญของระบบโลจิสติกส์ต่อประเทศ
     เมื่อมองในองค์รวมระดับประเทศ เป้าหมายหลักของการพัฒนาประเทศคือต้องมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนดังจะเห็นได้จากภาพ 1.5 และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นต้องอาศัยองค์ประกอบคือ ความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness), ความสมดุลของสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ (Environmental Balance), คุณภาพชีวิตที่ดีของประชากกร (Social Welfare), ความมั่นคงทางการเมืองของประเทศ (Political Stability), ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ (Macroeconomic Stability) และสถาบันต่างๆมีกรอบการดำเนินงานที่มีความทันสมัย (Modern Institutional Framework)
ภาพ 1.5: เป้าหมายของการพัฒนาประเทศ
     และเมื่อมองให้ลึกในด้านของความสามารถในการแข่งขันจะพบว่า ความสามารถในการแข่งขันคือความสามารถทางด้านเศรษฐกิจที่จะผลิตสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดสากล โดยที่ประชากรของประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐานที่ดีขึ้นและยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าเกี่ยวพันกับทั้งด้านของเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
     อนึ่งการทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขันที่มีความยั่งยืนในระดับประเทศ ต้องเริ่มต้นจากการบริหารจัดการโลจิสติกส์ภายในองค์กรที่มีประสิทธิภาพ การไหลเวียนของวัตถุดิบ (Raw Material) สินค้าระหว่างการผลิต (Work in Process) สินค้าสำเร็จรูป (Finished Goods) รวมถึงข้อมูลข่าวสารอย่างมีประสิทธิภาพ (Efficient Logistics Man agement) จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง (Stakeholders) ตลอดทั้ง Supply Chain มีความเข้มแข็ง (Strengthening Supply Chain Efficiency) ซึ่งจะส่งผลดีต่อการทำธุรกรรมทางการค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพราะจะช่วยให้การติดต่อทางการค้ามีความสะดวก รวดเร็ว ลดต้นทุน และยังช่วยขยายโอกาสทางการค้า นั่นก็คือ เป็นการเสริมสร้างการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Facilitating Trade and Business Transaction) นั่นเอง ผลสุดท้ายก็คือสินค้าของไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขันบนเวทีการค้าโลกอย่างยั่งยืน (Sustainable Competitiveness) ตามภาพ 1.6 ดังนี้
ภาพ 1.6: การสร้างความสามารถทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน
     และหากจะถามว่าทำไมต้องพัฒนาด้านโลจิสติกส์เพื่อให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน คำตอบคือ การพัฒนาด้านโลจิสติกส์ทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศทำให้เกิด Economy of Speed หรือการประหยัดจากระยะเวลาที่ลดลง โดยความเร็วในการดำเนินธุรกิจจะเป็นแรงผลักดันในการออกแบบรูปแบบการพัฒนา การใช้งานและการประเมินคุณค่าของโซ่อุปทาน ซึ่งหากโซ่อุปทานมีประสิทธิภาพก็จะทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขันและการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องตามมานั่นเอง
     จึงสรุปได้ว่าการพัฒนาทางด้านโลจิสติกส์ให้เกิดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของการทำเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มีความยั่งยืนของประเทศ และเมื่อมองความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถในการแข่งขันโดยพิจารณาจากระดับของกลุ่มทางเศรษฐกิจจะพบว่า
     1. ภาพรวมระดับประเทศต้องการความยั่งยืนในการพัฒนาคุณภาพชีวิต จะต้องมีการจัดการด้านโลจิสติกส์ โดยพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ การพัฒนากฎระเบียบให้สะดวกในการดำเนินธุรกิจ มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ และมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
     2. ระดับกลุ่มอุตสาหกรรม จะต้องมีการจับตำแหน่งของตลาดโดยการขายสินค้าที่มีคุณภาพ จีงต้องอาศัยการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน และการร่วมมือกันในด้านต่างๆ ในโซ่อุปทาน
     3. ระดับองค์กร ความสามารถในการแข่งขันคือการเพิ่มสูงขึ้นของผลกำไรและยอดขายในระยะยาวผ่านส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งต้องใช้กลยุทธ์ด้านโลจิสติกส์คือการสร้างความตระหนัก การแบ่งปันทรัพยากร และการหลีกเลียงในกิจกรรมที่ไม่เกิดคุณค่าเพิ่มต่างๆ
อ้างอิง http://www.greenlogisticsthai.org/index.php/whats-green-logistics/definition/54-2010-04-26-08-48-20

4. ความสำคัญของระบบโลจิสติกส์ต่อภาคอุตสาหกรรม
     เราได้ทำความรู้จักความเกี่ยวเนื่องของกิจกรรมโลจิสติกส์กับฝ่ายอื่น ๆ ไปแล้ว ต่อไปเราจะมาดูกันว่าการที่เราจะบรรลุเป้าหมายการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์นั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง การบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ของบริษัทหรือภาคอุตสาหกรรมมีส่วนสำคัญอยู่ไม่กี่อย่างซึ่งก็คือ การส่งมอบสินค้าที่ถูกต้อง สถานที่ที่ต้องการ ในเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ภายใต้การบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพและยอมรับได้1 ทั้งหมดนี้จะทำให้ลูกค้ามีความพึงพอใจในการบริโภคสินค้านั้นหรือที่เราคุ้นเคยกับคำว่า Customer Satisfaction นั่นเอง แต่กว่าที่เราจะทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจได้นั้น กิจกรรมโลจิสติกส์ได้เกิดขึ้นในทุก ๆกระบวนการตลอดห่วงโซ่อุปทานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าตตลอดกระบวนการ เริ่มต้นจากการเป็นวัตถุดิบ มาเป็นสินค้าระหว่างผลิต และสินค้าสำเร็จรูปพร้อมสำหรับผู้บริโภค กล่าวโดยสรุปก็คือโลจิสติกส์ก่อให้เกิดความพึงพอใจและสร้างคุณค่าในเรื่องเวลาและสถานที่ของสินค้านั่นเอง
     เมื่อสินค้าได้รับการเคลื่อนย้ายไปเรื่อย ๆ ตามกระบวนการผลิตหรือการจัดจำหน่าย สิ่งที่เกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งก็คือเจ้าของของสินค้าที่มีกรรมสิทธิ์ในตัวสินค้า สามารถดูแลและใช้ประโยชน์จากสินค้า รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้โดยการกำหนดตำแหน่งทางการตลาดให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยลดความเสียหายจากการขนส่งและการเก็บรักษาสินค้า เป็นผลมาจากการเลือกพาหนะที่บรรทุกสินค้า ดูแลความปลอดภัยในการขนส่ง อุณหภูมิที่เหมาะสม ภาชนะและบรรจุภัณฑ์ที่อำนวยความสะดวกให้กับสินค้าและกิจกรรมต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดเวลาการขนส่งสินค้าให้สั้นลงได้อีกทางหนึ่งด้วยการบริหารจัดการเส้นทางขนส่งและพัฒนาวิธีการขนส่งสินค้าให้สามารถจัดส่งสินค้าให้ถึงปลายทางได้ในระยะเวลาอันสั้น เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสินค้าบางประเภทและยังช่วยเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้นอีกด้วย
     ที่กล่าวมาทั้งหมดคือความสำคัญของการบริหารจัดการโลจิสติกส์ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสรุปได้ว่าเมื่อมีการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้บริษัทสามารถลดต้นทุนในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนเวลา ต้นทุนค่าเสียโอกาสที่เป็นผลมาจากการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากยิ่งขึ้นนั่นเอง ประโยชน์ที่ตามมาก็คือเมื่อบริษัทสามารถจัดการลดต้นทุนให้กับสินค้าได้แล้วก็จะมีศักยภาพในการแข่งขันด้านราคาเพิ่มมากขึ้น หรือมีกำไรเพิ่มขึ้นจากการขายสินค้าในราคาปกติ ทำให้ผลประกอบการของบริษัทดีขึ้นเป็นลำดับ
อ้างอิง http://www.greenlogisticsthai.org/index.php/whats-green-logistics/definition/53-2010-04-26-08-37-40

5. ความหมายโลจิสติกส์ (Logistics)
     โลจิสติกส์ (Logistics) ที่บางคนออกเสียงว่า ลอจิสติกส์ ซึ่งไม่น่าจะถูกต้องนัก คำนี้ตามพจนานุกรม แปลว่า การส่งกำลังบำรุง และความหมายในยุคศตวรรษที่ 19 ในเรื่องที่เกี่ยวกับการขนส่งสิ่งของ หมายถึง การวางแผนและบริหารจัดการเพื่อลำเลียงสิ่งของจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง โดยเฉพาะในทางทหารและอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งของ แต่ถ้าอยู่ในเรื่องของการบริหารองค์กรที่มีสายงานมากและซับซ้อน หมายถึง การวางแผนและบริหารจัดการภารกิจที่มีความยุ่งยากซับซ้อน
     เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ความหมายของ โลจิสติกส์ ก็เปลี่ยนไปตามวิธีการดำเนินธุรกิจของโลก ในยุคศตวรรษที่ 20 ในทางการทหาร หมายถึง การวางแผนและบริหารจัดการเพื่อการเคลื่อนกองทัพ กำลังพล ยุทโธปกรณ์ และสิ่งอุปโภคต่าง ๆ ส่วนในด้านอุตสาหกรรมและธุรกิจ หมายถึง การวางแผนและควบคุมการเคลื่อนไหลของวัตถุดิบและผลผลิต รวมไปถึงการกระจายสินค้าสู่ตลาดจนถึงผู้บริโภค โดยมีการจัดองค์กรหรือกระบวนการผลิตอย่างเหมาะสมคุ้มค่า
     ปัจจุบัน โลจิสติกส์ หมายถึง ต้นทุนด้านการขนส่งของประเทศ การผลิตสินค้าหรือการบริการต่างๆ ย่อมต้องมีการติดต่อ ขนส่ง เช่น ขนส่งวัตถุดิบจากแหล่งวัตถุดิบไปยังโรงงานผ่านกระ บวนการผลิตจนเป็นสินค้า จากนั้นต้องมีการขนส่งสินค้าสู่ตลาด เพื่อกระจายให้ถึงผู้บริโภค ต้นทุนด้านการขนส่งมิได้หมายถึงเฉพาะค่าใช้จ่ายของยานพาหนะ แต่รวมถึงวิธีการบรรจุ หีบห่อ ขนถ่าย และป้อนเข้าโรงงาน หากทำได้รวดเร็ว ประหยัด มีการสูญเสียน้อย นั่นยอมหมายถึงมีต้นทุนต่ำ ในการกระจายผลผลิตสู่ตลาดและผู้บริโภคก็ต้องมีต้นทุนต่ำด้วย
     ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ จึงครอบคลุมหลายฝ่าย ตั้งแต่แหล่งวัตถุดิบ วิธีการบรรจุ ขนถ่าย กระบวนการส่ง-รับของ ผู้จัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งต่าง ๆ ทั้งระบบถนน ระบบราง ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ศุลกากร และโรงเก็บสินค้า เป็นต้น ต้นทุนด้านการขนส่งจะต่ำได้ต่อเมื่อการขนถ่ายและนำส่งผลิตภัณฑ์ถึงจุดหมายโดยเร็ว สูญเสียน้อย สินค้าถึงมือผู้รับตามเวลาโดยเร็ว ขั้นตอนกระบวนการศุลกากรทั้งนำเข้า-ส่งออก สะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องเสียค่าเช่าโรงเก็บสินค้าหรือตู้คอนเทนเนอร์นานวัน ลดดอกเบี้ยของต้นทุนลงได้ด้วย
(ที่มา: http://www.tpa.or.th/writer/read_this_book_topic.php?bookID=589&read=true&count=true)

6. ความหมายของโซ่อุปทาน (Supply Chain)
     โซ่อุปทาน (Supply Chain) หรือ เครือข่ายลอจิสติกส์ คือ การใช้ระบบของหน่วยงาน คน เทคโนโลยี กิจกรรม ข้อมูลข่าวสาร และทรัพยากร มาประยุกต์เข้าด้วยกัน เพื่อการเคลื่อนย้ายสินค้าหรือบริการ จากผู้จัดหาไปยังลูกค้า กิจกรรมของโซ่อุปทาน (Supply Chain) จะแปรสภาพทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบ และวัสดุอื่นๆให้กลายเป็นสินค้าสำเร็จ แล้วส่งไปจนถึงลูกค้าคนสุดท้าย (ผู้บริโภค หรือ End Customer) ในเชิงปรัชญาของโซ่อุปทาน (Supply Chain)นั้น วัสดุที่ถูกใช้แล้ว อาจจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ที่จุดไหนของโซ่อุปทาน (Supply Chain) ก็ได้ ถ้าวัสดุนั้นเป็นวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recyclable Materials) โซ่อุปทาน (Supply Chain) มีความเกี่ยวข้องกับโซ่คุณค่า (Value Chain)
     โดยทั่วไปแล้ว จุดเริ่มต้นของโซ่มักจะมาจากทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรทางชีววิทยาหรือนิเวศวิทยา ผ่านกระบวนการแปรรูปโดยมนุษย์ผ่านกระบวนการสกัด และการผลิตที่เกี่ยวข้อง เช่น การก่อโครงร่าง, การประกอบ หรือการรวมเข้าด้วยกัน ก่อนจะถูกส่งไปยังโกดัง หรือคลังวัสดุ โดยทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้าย ปริมาณของสินค้าก็จะลดลงทุกๆครั้ง และไกลกว่าจุดกำเนิดของมัน และท้ายที่สุด ก็ถูกส่งไปถึงมือผู้บริโภค
     การแลกเปลี่ยนแต่ละครั้งในโซ่อุปทาน (Supply Chain) มักจะเกิดขึ้นระหว่างบรรษัทต่อบรรษัท ที่ต้องการเพิ่มผลประกอบการ ภายใต้สภาวะที่พวกเขาสนใจ แต่ก็อาจจะมีความรู้น้อยนิด/ไม่มีเลย เกี่ยวกับบริษัทอื่นๆในระบบ ปัจจุบันนี้ ได้เกิดบริษัทจำพวกบริษัทลูก ที่แยกออกมาเป็นเอกเทศจากบริษัทแม่ มีจุดประสงค์ในการสรรหาทรัพยากรมาป้อนให้บริษัทแม่
(ที่มา: http://th.wikipedia.org/wiki/ห่วงโซ่อุปทาน)

7. ความหมาย โลจิสติกส์และโซ่อุปทาน


     โลจิสติกส์ (Logistics) = คือ กิจกรรมการเคลื่อนย้าย การขนส่งสิ่งของให้เร็วที่สุด คุ้มค่าที่สุด ถูกที่ ถูกเวลา เป็นเครื่องมือที่เรียกว่าการจัดการโลจิสติกส์ (logistics) สามารถช่วยในการจัดการโซ่อุปทานมีคุณค่าสูงสุด
     ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) = คือ กิจกรรมการใช้ระบบของหน่วยงาน คน เทคโนโลยี กิจกรรม ข้อมูลข่าวสาร และทรัพยากร มาประยุกต์เข้าด้วยกัน ตั้งแต่ ต้นน้ำ ไปจนถึง ปลายน้ำ
     คำว่า โลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ( logistics and supply chain ) คือระบบการจัดการการส่งสินค้า ข้อมูล และทรัพยากรอย่างอื่นต่างๆ ทุกอย่างที่มีการขนส่ง หรือเคลื่นย้ายจากจุดต้นทางไปยังจุดบริโภคตามความต้องการของลูกค้า โลจิสติกส์เกี่ยวข้องกับการผสมผสานของ ข้อมูล การขนส่ง การบริหารวัสดุคงคลัง การจัดการวัตถุดิบ การบรรจุหีบห่อ โลจิสติกส์เป็นช่องทางหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานที่เพิ่มมูลค่าของการใช้ ประโยชน์ของเวลาและสถานที่ สรุปง่ายๆก็คือ ทุกอย่างที่มีเกี่ยวกับการขนส่ง จะเกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ทั้งหมด เป้าหมายของโลจิสติกส์ นั้นเพื่อ ให้ลดค่าใช้จ่าย ลดระยะเวลาในการขนส่ง ลดปัญหาต่างๆ ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น โดยใช้ต้นทุนน้อยที่สุด

     ครั้งแรก คำว่าโลจิสติกส์นั้นเกิดขึ้นจากวงการทหาร ที่ต้องมีการลำเลียงเสบียง อาวุธยุทธโธปกรณ์ ต่างๆ รวมถึง กำลังพล เพื่อสนับสนุนการรบ หรือ กิจกรรมที่มีการเคลื่อนย้าย จัดเก็บ จากอีกที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง อาจมีการจัดเก็บระยะเวลานานหรือระยะเวลาชั่วคราว เช่น เอกสาร สินค้าสำเร็จรูป วัตถุดิบ และอื่น ๆ จึงก่อให้เกิดการโลจิสติกส์ขึ้น แต่ไม่แน่ชัด ว่าเริ่มต้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาไหน แต่คร่าวๆ ประมาณช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

     โลจิสติกส์ หรือ ลอจิสติกส์ (อังกฤษ: logistics) เป็นระบบการจัดการการส่งสินค้า ข้อมูล และทรัพยากรอย่างอื่นจากจุดต้นทางไปยังจุดบริโภคตามความต้องการของลูกค้า โลจิสติกส์เกี่ยวข้องกับการผสมผสานของ ข้อมูล การขนส่ง การบริหารวัสดุคงคลัง การจัดการวัตถุดิบ การบรรจุหีบห่อ โลจิสติกส์เป็นช่องทางหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานที่เพิ่มมูลค่าของการใช้ประโยชน์ของเวลาและสถานที่
(อ้างอิงจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี http://th.wikipedia.org)